นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับสุขภาพดี 24 ชั่วโมง

1969 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับสุขภาพดี 24 ชั่วโมง

Biological Clock หรือนาฬิกาชีวภาพ หรือที่หลายๆคนคุ้นชินกันดีในนามของ "นาฬิกาชีวิต" เป็นสิ่งที่ถูกติดตั้งไว้ในร่างกายของมนุษย์ที่คอยบอกเวลาตื่นยามเช้า เวลาหลับตอนกลางคืน เวลารับประทานอาหาร เวลาที่เหมาะแก่การทำกิจกรรม และเวลาที่เหมาะกับการขับถ่าย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ คือ กลางวัน กลางคืน และปรับระบบต่างๆในร่างกายโดยเฉพาะระบบฮอร์โมน

ปัจจุบันที่ผู้คนทำงานกลางคืน ทั้งที่เป็นเวลานอนหลับตามนาฬิกาชีวิต แต่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ได้ทั้งที่ดูเป็นการฝืนธรรมชาติ นาฬิกาชีวิตสามารถปรับกลางวันให้เป็นกลางคืนได้หรือไม่นั้น ต้องขออธิบายว่าในร่างกายของเราจะมีตาที่ 3 อยู่ในสมองเรียกว่า ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ต่อมนี้จะคอยรับรู้แสงและความมืดโดยสร้างเมลาโทนิน เมื่อแสงลดลง หรือเมื่อถึงเวลามืดให้เรารู้สึกง่วง นั่นหมายถึงเวลาที่ต้องเข้านอน เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมอวัยวะที่ถูกใช้งานมาตลอดทั้งวันโดยสังเกตเห็นว่าในสัตว์ที่มีสปีชีส์ใกล้เคียงกับเรา เช่น เราจะเห็นว่าลิงหลับในเวลากลางคืนไม่ออกมาปีนต้นไม้ แต่คนเรายังไม่หลับเพราะมีกิจกรรมและมีไฟฟ้าใช้ ทำให้ระบบนาฬิกาชีวภาพแปรปรวนไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

 

นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างไร ?

05.00 - 07.00 น. เวลาของลำไส้ใหญ่ ตื่นมาขับถ่ายดีกว่า

"ตื่นนอน และดื่มน้ำมากๆ เพื่อกระตุ้นระบบขับถ่าย" ลำไส้ใหญ่จะทำงานได้ดีในเวลานี้ ทำให้ของเสียและกากอาหารถูกขับออกจากร่างกายได้ดีที่สุด ถ้าเราไม่ขับถ่าย ร่างกายจะดูดซึมของเสียเข้าสู้ร่างกายอีกรอบ ส่งผลกระทบมากมาย เช่น เป็นหวัด เป็นสิว ร้อนใน ท้องผูก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ เป็นต้น

 

07.00 - 09.00 น. เวลาของกระเพาะอาหาร มาทานข้าวเช้ากันเถอะทุกคน

"ร่างกายต้องการพลังงาน ฉะนั้นอาหารเช้าจำเป็นสุด" ช่วงนี้กระเพาะอาหารจะแข็งแรง สามารถย่อยอาหาร และดูดซึมได้ดีที่สุด ถ้าเราไม่ทานอาหาร กระเพาะและม้ามจะอ่อนแอ ประกอบกับร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น ทำให้ร่างกายสร้างเลือดได้น้อย เลือดที่จะไปเลี้ยงสมองน้อยลง มีผลต่อสมาธิ ความจำ การตัดสินใจ ขี้กังวล แก่เร็ว ระยะยาวอาจจะอ้วนได้ง่าย

 

09.00 - 11.00 น. เวลาของม้ามและตับอ่อน ร่างกายกระปรี้กระเปร่า พร้อมทำงานแล้วหละ

"ช่วงเวลานี้ร่างกายตื่นตัวมาก การทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรจะได้ผลดี" เพราะม้ามทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณเลือดในร่างกายให้คงที่ ส่งต่อสารอาหารที่มีประโยชน์จากอาหารเช้าไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าเราทานอาหารที่มีประโยชน์ ม้ามจะนำสารอาหารดีๆผ่านเม็ดเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้ร่างกายสดชื่น สมองก็จะทำงานได้ดี

 

11.00 - 13.00 น. เวลาของหัวใจ ผ่อนคลาย

"เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด และสารอาหารไปเลี้ยงทั้งร่างกาย" ซึ่งช่วงนี้หัวใจจะทำงานหนักที่สุด ระดับความดันในร่างกายสูงขึ้น ฉะนั้นช่วงเวลานี้ห้ามเครียดเด็ดขาด เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักเข้าไปอีก ถ้าเราทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย ถือเป็นการดูแลทะนุถนอมหัวใจให้แข็งแรงอีกด้วย

 

13.00 - 15.00 น. เวลาของลำไส้เล็ก งดอาหารด้วยนะ

"ช่วงเวลานี้งดอาหารทุกชนิด อย่าทานจุกจิก เพราะจะเป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้เล็ก" ซึ่งมีหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิด เช่น วิตามินซี, วิตามินบี, โปรตีน ซึ่งทำหน้าที่สร้างกรดอะมิโน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างเซลล์สมอง เวลานี้สมองซีกขวาทำงานดี ทั้งเรื่องความจำ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน เป็นต้น

 

15.00 - 17.00 น. เวลาของกระเพาะปัสสาวะ ดื่มน้ำบ่อยๆ และออกกำลังกายกันจ้า

"ช่วงเวลานี้กระเพาะปัสสาวะ รอกำจัดของเสียออกจากร่างกาย" เพราะฉะนั้นช่วงนี้ควรดื่มน้ำเยอะๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มีผลในเรื่องความจำ ไทรอยด์ และระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งจะทำให้เพิ่มโอกาสให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย และช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง เหมาะที่จะออกกำลังกาย ทำให้เหงื่อออกเพื่อช่วยขับของเสียออกจากร่างกายอีกทางหนึ่ง

 

17.00 - 19.00 น. เวลาของไต สดชื่น แจ่มใส 

ช่วงเวลานี้ยังไม่ควรเข้านอน เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก ควรออกกำลังกายหรือทำงานบ้าน เพื่อให้ร่างกายสดชื่น แอคทีฟ เพิ่มความดันเลือด แถมช่วยให้ผิวสดใสแข็งแรงเปล่งปลั่งอีกด้วย ช่วงนี้ไตทำงานหนักในการกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลร่างกาย

 

19.00 - 21.00 น. เวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้จิตใจผ่อนคลาย เข้าสู่โหมดธรรมะ นั่งสมาธิ

ช่วงเวลานี้ร่างกายต้องการความสงบ หยุดนิ่ง จะช่วยให้จิตใจและร่างกายพร้อมจะเข้านอน เนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวใจ และช่วงเวลานี้มีความคำคัญในการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิต ส่งเม็ดเลือด และเม็ดเลือดก็สารอาหาร ออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อหนักในช่วงนี้ เพราะจะทำให้ร่างกายดึงพลังงานไปที่ระบบการย่อยอาหารมากกว่า

 

21.00 - 23.00 น. เวลาการทำงานของระบบอุณหภูมิในร่างกาย เข้านอนกันเถอะ

ทำให้ร่างกายอบอุ่น ห้ามอาบน้ำเย็นในช่วงนี้ จะทำให้ป่วยง่าย อ่อนแอ เพราะช่วงนี้ร่างกายต้องการความอบอุ่น เป็นช่วงเวลาที่ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย พร้อมปรับสมดุลในร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆลดลง ร่างกายเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ช่วงนี้จึงควรนอนหลับพักผ่อน อย่าลืมจิบน้ำนิดหน่อยก่อนนอนด้วยนะ

 

23.00 - 01.00 น. เวลาของถุงน้ำดี

ที่ต้องจิบน้ำก่อนนอนช่วง 21.00 - 23.00 น. เพราะช่วงเวลา 23.00 - 01.00 น. จะมีผลกับถุงน้ำดี เพราะถุงน้ำดีเป็นถุงสำรองเก็บน้ำดีที่ได้จากตับ พร้อมส่งไปช่วยย่อยไขมันในลำไส้เล็ก หรือถ้าอวัยวะใดในร่างกายขาดน้ำ จะดึงน้ำจากถุงน้ำดี ถ้ามีการดึงมากเกินไป ทำให้น้ำดีข้น เป็นผลทำให้สายตาเสื่อม เหงือกบวม นอนไม่หลับ ปวดหัว

 

01.00 - 03.00 น. เวลาของตับ ควรหลับให้สนิท

เป็นช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อน เพื่อให้เลือดไหลเวียนมาที่ตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขณะที่เราหลับ ตับจะกำจัดสารพิษทำให้หน้าอ่อนวัย ทำการสร้างเม็ดเลือดแดง ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยนำมาเก็บในรูปแบบของไกลโคเจน และสามารถนำไกลโคเจนมาสลายเป็นพลังงานให้แก่ร่างกายได้

 

03.00 - 05.00 น. เวลาของปอด เตรียมตื่นรับอากาศให้เต็มปอด

ใครอยากมีผิวเด้ง หน้าใส ต้องตื่นช่วงนี้นะคะ เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า เป็นช่วงเวลาที่ปอดทำหน้าที่ฟอกเลือดได้อย่างเต็มที่ พร้อมแจกจ่ายไปยังเซลล์ต่างๆให้ได้รับออกซิเจนเพียงพอ

 

การปรับพฤติกรรมให้ได้ตามหลักนาฬิกาชีวิต อาจต้องใช้เวลาสักนิด หรืออาจจะลองช่วงเวลาที่เราคิดว่าทำได้ง่ายสุดดูก่อน จากนั้นค่อยๆปรับพฤติกรรมให้ได้ตามช่วงเวลาอื่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นนั่นเองค่าา

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้