2339 จำนวนผู้เข้าชม |
ไข้ มักจะมีอาการ ไม่สบายตัว มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ ครั่นเนื้อตัว หนาวสั่นสะท้าน หน้าแดง คอแห้ง โดยอาการเหล่านี้ ในทางการแพทย์แผนไทย มีบันทึกในคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่กล่าวถึงสาเหตุของไข้อยู่หลายคัมภีร์ เมื่อธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายไม่สมดุลเนื่องจากปัจจัยใดๆ ก็ตาม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธาตุในร่างกาย และเกิดการกระทบถึงกันทำให้เกิดอาการหรือโรคขึ้นได้ ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยยังได้ระบุยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการไข้ไว้หลายหลายชนิด เช่น สมุนไพรเดี่ยว ได้แก่ มะระขี้นก บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมียาตำรับที่มีสรรพคุณลดไข้ ได้แก่ ยาห้าราก ยาประสะจันทน์แดง ยาจันทลีลา ยาเขียวหอม เป็นต้น
ผู้อ่านอาจจะรู้จักยาสมุนไพรเดี่ยวลดไข้กันไปแล้ว ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับยาตำรับที่กล่าวมาในข้างต้น
ตำรับยาสมุนไพรแก้ไข้ตัวร้อน
1.ยาห้าราก
เป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วย รากของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ชิงชี่ คนทา เท้ายายม่อม มะเดื่อชุมพร และย่านาง ตามหลักการแพทย์แผนไทย มีสรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน กระทุ้งพิษไข้ หมายถึง ขับความร้อนจากภายในออกสู่ภายนอกทางผิวหนัง ช่วยลดอันตรายจากอาการไข้ขึ้นสูง เหมาะสำหรับไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ออกผื่น แต่ไม่แนะนำในหญิงที่เป็นไข้ทับระดู และใช้ยาระหว่างมีประจำเดือน อาจทำให้ประจำเดือนน้อยลง หรือหยุดได้
2.ยาประสะจันทน์แดง
เป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยแก่นจันทน์แดง 32 ส่วน และสมุนไพรอื่นๆ มีรสเย็น ตำรับยานี้จึงช่วย แก้ไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยกระจายลม และช่วยแก้ปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ เนื่องจากในตำรับมีดอกไม้เป็นส่วนประกอบในตำรับด้วย
3.ยาจันทลีลา
เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์แดง จันทน์ขาว ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก และพิมเสน สรรพคุณแก้ไข้ ตัวร้อน สามารถใช้ได้ในคนที่เป็นไข้ทับระดู และในระหว่างที่มีประจำเดือนได้ สามารถใช้ลดไข้ได้เช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล
4.ยาเขียวหอม
เป็นยาที่มีส่วนประกอบของใบสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ตัวยามีสีเขียว จึงเรียกว่ายาเขียว และมีรสขม หอมเย็น มีสรรพคุณดับพิษร้อน แก้ไข้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ สามารถใช้ได้ทั้งกินและชโลมผิวหนังช่วยลดความร้อนที่ผิวหนัง และยังใช้ในเด็กได้ แก้ไข้หัด สุกใส แนะนำให้ใช้น้ำต้มสุกหรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อละลายตัวยา ให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีกว่า และควรระวังในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้
นอกจากเลือกใช้ยาสมุนไพรลดไข้ได้อย่างเหมาะสมแล้วยังต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ข้อห้ามและข้อควรระวัง
1.ต้องทราบองค์ประกอบในตำรับยา กรณีที่มีการแพ้พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรเลี่ยงการใช้ยาตำรับนั้น เช่น ในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของดอกไม้
2.การเริ่มใช้ยาเอง ให้เริ่มใช้จากขนาดต่ำสุดที่กำหนดไว้ในฉลากยา หรือหากมีข้อสงสัยในการใช้ยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์แผนไทย
3.ยาสมุนไพรแก้ไข้ทุกชนิด ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของโรคได้ เมื่อสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกให้พบแพทย์ทันที
4.ยาสมุนไพรลดไข้ หากใช้ยานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
จะเห็นได้ว่ามีตัวยาสมุนไพรหลายตัวที่มีสรรพคุณในการลดไข้ ช่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยกลับมาเป็นปกติดังเดิม และยังช่วยให้ธาตุทั้ง 4 กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลส่งผลดีต่อร่างกาย
หากมีอาการเจ็บป่วยนึกถึงยาสมุนไพร อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสมุนไพร
อ้างอิง