1541 จำนวนผู้เข้าชม |
มะระขี้นกสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ แก้ร้อนใน อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเซีย แอฟริกา และละตินอเมริกา อายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ ตำรายาไทยใช้ใบมะระในตำรับยาเขียวลดไข้ รากในตำรับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ
เมื่อร่างกาย มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติหรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ หรือที่เรียกว่า โรคเบาหวาน เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ซึ่งอาการของระดับน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ รับประทานมากขึ้น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและอ่อนเพลีย อีกทั้งโรคนี้ยังนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือต้องการกินเพื่อรักษาโรค ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ ให้เหมาะสม การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การพักผ่อนที่เพียงพอ
กลไกการลดน้ำตาลในเลือด
มะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน โดยองค์ประกอบทางเคมีที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดคือ Insulin, Charantin, Polypeptide และ Vicine นอกจากนี้ยังพบว่า สาร Charantin, Polypeptide, Momocharin และMomordicinในมะระขี้นกซึ่งมีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอินซูลิน สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ ในการใช้มะระขี้นกเพื่อลดน้ำตาลในเลือด ให้เน้นการรับประทาน เป็นอาหาร เพราะจะได้ไฟเบอร์ แร่ธาตุ และวิตามินอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ก็ควรจำกัดการบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้มะระขี้นก (สีเขียว) มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีวิตามินเอ ไนอะซิน และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
มะระขี้นกมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวานได้หลายวิธี ได้แก่
- กลไกการกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน Polypeptide มีฤทธิ์ลดน้ำตาล เสริมการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ สะสมน้ำตาลที่เหลือในรูปไกลโคเจน อินซูลินออกฤทธิ์โดยนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อลายซึ่งเป็นเซลล์ของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทั่วทั้งร่างกายและกระตุ้นให้มีการสลายกรดไขมันอิสระเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งถูกนำไปที่ตับเพื่อสร้างเป็นน้ำตาลต่อไป
ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
- กลไกการออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินซูลิน สารสกัดมะระขี้นกสามารถลดการเกิดกระบวนการเปลี่ยนไกลโคเจนเป็นกลูโคสที่ตับ เพิ่มการเกิดกระบวนการสังเคราะห์ไกลโคเจนในตับ และยังกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ glucose- 6-phosphatate dehydrogenase ได้ ซึ่งการเพิ่มการทํางานของเอนไซม์ตัวนี้ จะส่งผลให้เกิดการนํากลูโคสไปใช้ที่ตับมากขึ้น ทําให้ระดับน้ําตาลกลูโคสในเลือดลดลง
- กลไกการเพิ่มความไวในการตอบสนองต่ออินซูลิน สาร Streptozotocin เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ในการศึกษาของ Sridhar MG และคณะ (2008) พบว่ารับประทานมะระขี้นกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ จะช่วยเร่งการเกิดปฏิกิริยา IRS-1 tyrosine phosphorylation ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการตอบสนองของอินซูลิน โดยผลการศึกษานี้ มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Abdollahi M และคณะ (2010) ที่พบว่าสารสกัดจากมะระขี้นก ช่วยเพิ่มความไวในการตอบสนองต่ออินซูลิน
- ลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์บริเวณลำไส้เล็ก ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสและลดการดูดซึมกลูโคสในลำไส้เล็กได้แก่ เอนไซม์ maltase ซึ่งจะมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร
- ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ hexokinase ฤทธิ์ของสารสกัดจากเมล็ดมะระขี้นกสามารถลด น้ำตาลในเลือดได้โดยเพิ่มการทำงานของhexokinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเลือดให้ปกติ
ข้อควรระวัง
ควรระมัดระวังการรับประทานมะระขี้นกร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เนื่องจาก อาจเสริมฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดจนเกิดอันตรายจากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ห้ามใช้ในเด็กที่มีภาวะน้ำตาลต่ำหรือหญิงให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมากจนเกิดอาการชักได้
ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และระบบประสาททำงานผิดปกติ
ทั้งนี้การที่จะรักษาโรคเบาหวานด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ควรเลือกสถานพยาบาลที่ให้การรักษาด้านการแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐานมีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่ถูกต้อง