ดูแลสุขภาพวัยทอง ด้วยสมุนไพร

1539 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดูแลสุขภาพวัยทอง ด้วยสมุนไพร

ดูแลสุขภาพวัยทอง ด้วยสมุนไพร

สตรีวัยทอง มักพบในช่วงอายุ 45-55 ปี มักเป็นช่วงใกล้หมดประจำเดือน, ช่วงที่ไม่มีประจำเดือนต่อเนื่องกัน 1 ปี หรือพบได้ในสตรีที่มีการผ่าตัดรังไข่ออกไปทั้งสองข้าง ทำให้สตรีวัยทองเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ฉะนั้นหากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง
 
ในทางแพทย์แผนไทยเมื่อเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัย คือวัยช่วงอายุ 32 ปีเป็นต้นไป (ตามคัมภีร์เวชศาสตร์) จะเป็นช่วงวัยที่มีธาตุลมในร่างกายเด่น ควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เพราะอาจทำให้ธาตุลมในร่างกายถูกกระทบได้ง่าย และเกิดอาการเจ็บป่วยตามมา ในทางแผนไทยจึงมีคำเรียกว่า “เลือดจะไป ลมจะมา” แปลความหมายได้ว่า

“เลือดจะไป” คือ ต่อมโลหิตระดูจะไม่ทำงานได้เหมือนเดิม หมายถึงการหมดประจำเดือน

“ลมจะมา” ช่วงวัยเปลี่ยน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีธาตุลมเป็นหลัก ซึ่งลมในร่างกายจะถูกกระทบได้ง่าย หากธาตุเสียสมดุล จะมีอาการแตกต่างกันไป ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ(ขี้หนาวขี้ร้อน) ท้องอืด ท้องผูก ผิวแห้งและคัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง มีการเปลี่ยนสภาพทางจิตใจ เช่น โมโหง่าย ซึมเศร้า ขี้ลืม ใจน้อย เป็นต้น

 

อาหาร และสมุนไพร ที่เหมาะกับสตรีวัยทอง ได้แก่

1. น้ำมันมะพร้าว
ผิวหนังอาจแห้ง และคัน เมื่อฮอร์โมนเพศลดลง สามารถบำรุงผิวด้วยสมุนไพร เช่น ทาน้ำมันมะพร้าวหลังการอาบน้ำ หรือใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่ลดอาการคันที่ผิวหนัง เช่น สบู่ขมิ้นชัน สบู่เหงือกปลาหมอ

2. พืชที่มีไฟโตรเอสโตรเจน
เนื่องจากฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ โดยเฉพาะกลางคืน ดังนั้นควรรับประทานพืชที่มีไฟโตรเอสโตรเจน ซึ่งคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน และสารไอโซฟลาโวน(isoflavone) จะช่วยทำให้อาการร้อบวูบวาบลดลง เช่น เต้าหู้เหลือง เต้าเจี้ยว งา แครอท น้ำมะพร้าว

3. เครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงร่างกาย
เครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงร่างกาย เช่น น้ำใบเตย น้ำมะตูม น้ำฝาง ชาเกสรบัวหลวง หรือเครื่องดื่มรสเผ็ดร้อนเพื่อทำให้ธาตุลมในร่างกายเดินได้สะดวก เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้

4. สมุนไพรที่มีแคลเซียมสูง
เมื่อเข้าสู่วัยทอง โดยเฉพาะช่วงหมดประจำเดือนไปหลายปี จำมีโอกาสเสี่ยงเรื่องกระดูกบาง ดั้งนั้นควรรับประทานสมุนไพรที่มีแคลเซียมสูง เช่น ยอดแค ยอดใบขี้เหล็ก ยอดสะเดา ผักคะน้า ผักแพว ตำลึง

 

ปรับวิถีชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม ได้แก่

1. ละเว้นจากพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่                                             

ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก ในวัยนี้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารจะลดลง จึงควรทานอาหารที่เหมาะสมตามวัย ลดอาหารที่มีรสชาติหวานและมีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น  

เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่นผัก ผลไม้(ผลไม้ที่มีน้ำตาลไม่สูง) ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทริค : หากทานเส้นใยมากไป แล้วระหว่างวันดื่มน้ำน้อย จากที่จะทำให้ขับถ่ายสะดวกจะยิ่งทำให้ท้องผูกได้ ฉะนั้นหากทานอาหารที่มีเส้นใยแล้ว หลังตื่นนอนตอนเช้าควรดื่มน้ำ 1แก้วทันที ระหว่างวันควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายด้วย จะทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

4. พักผ่อนให้เพียงพอและมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง ดังคำกล่าวที่ว่า "จิตเป็นนาย...กายเป็นบ่าว" หากจิตใจดี รักษาพลังงานบวกอย่างถูกต้อง ร่างกายก็จะแข็งแรง หรือหากมีอาการเจ็บป่วยก็จะหายได้ง่ายกว่าผู้ที่มีความเครียดสะสม ฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตใจด้วยนะคะ ^^

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก คลินิกต่อมไร้ท่อทางนารีเวชและวัยทอง ภาควิชาสูติศาสตร์ - นารีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยรักและห่วงใย จากไทรทอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้